Last updated: 14 ส.ค. 2561 | 14751 จำนวนผู้เข้าชม |
กรดไหลย้อนลงกล่องเสียง (laryngopharyngeal reflux disease / LPR / "แอลพีอาร์") อาการประเภทนี้มักจะมีอาการรุนแรงกว่าโรคกรดไหลย้อนทั่วไปหรือจะเรียกว่า "เกิร์ด" ทั่วๆ ไป เนื่องจากเยื่อบุบริเวณกล่องเสียงจะทนกรดได้น้อยกว่าหลอดอาหาร
กลไกของโรคกรดไหลย้อน
· อาหาร น้ำ ลม และกรดภายในกระเพาะอาหารอาจไหลย้อนขึ้นจากกระเพาะอาหาร (ลักษณะคล้ายถุง) ไปยังหลอดอาหาร (ท่อที่มีลูกศรอยู่ข้างๆ)ได้
ลักษณะกลไกของโรคกรดไหลย้อนลงกล่องเสียง
· สังเกตว่า การขย้อนของอาหาร น้ำ และลมที่กรดหรือน้ำดีผสมอยู่ด้วยขึ้นมาสูงมากจนถึงระดับกล่องเสียง (สูงกว่าหลอดอาหาร)
แสดงเยื่อบุหลอดอาหารอักเสบ เป็นแผล และตีบตันจากโรคกรดไหลย้อนเรื้อรัง
อาการของโรคกรดไหลย้อนลงกล่องเสียงมักจะไม่แสดงอาการชัดเจน อาการที่พบบ่อยๆ ได้แก่
· เสียงแหบ
· มีของเหลว (รสเปรี้ยวจากกรด หรือขมจากน้ำดี) ไหลลงคอ
· บางครั้งเหมือนมีเสมหะในคอตลอดเวลา
· ไอกระแอม หรือรู้สึกอยากขากเสมหะบ่อยๆ
· ฟันสึก เสียวฟัน ฟันผุ
· มีกลิ่นปาก
· กลืนอาหาร น้ำ หรือเม็ดยาลำบากกว่าปกติ
· ไอมาก ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะไอหลังอาหาร หรือไอเวลาเอนลงนอน
· จุกในลำคอ รู้สึกคล้ายๆ กับมีก้อนอะไรอยู่ในลำคอ
· รู้สึกแสบร้อน และเจ็บบริเวณอก เรอเปรี้ยวบ่อยๆ
· หายใจลำบาก หรือสำลักบ่อยๆ
กลไกของโรคเกิดจากหูรูดบริเวณส่วนล่างของหลอดอาหาร (บริเวณใกล้กะบังลมที่คั่นระหว่างช่องอกกับช่องท้อง) ทำงานได้ไม่ดี ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นได้
วิธีปรับตัวต้านโรคกรดไหลย้อนที่สำคัญได้แก่
กินเกือบอิ่ม ถ้ากินจนอิ่ม... ปริมาตร "อาหาร+น้ำ+ลม" ในกระเพาะอาหารจะเพิ่มขึ้น (อาหาร+น้ำเพิ่มขึ้น) ทำให้กรดไหลย้อนมากขึ้น
ไม่กินข้าวคำน้ำคำ ถ้ากินข้าวคำน้ำคำ จะทำให้ปริมาตร "อาหาร+น้ำ+ลม" ในกระเพาะอาหารจะเพิ่มขึ้น (น้ำมากขึ้น) ทำให้กรดไหลย้อนมากขึ้น
ไม่กินไปพูดไป การกินไปพูดไปจะทำให้คนเรากลืนลมลงไปในท้องมากขึ้น ปริมาตร "อาหาร+น้ำ+ลม" ในกระเพาะอาหารจะเพิ่มขึ้น รวมถึงลมมากขึ้น ทำให้อาการกรดไหลย้อนมากขึ้นด้วย
ไม่กินลม การไม่กินลมในที่นี้หมายถึง การดื่มน้ำอัดลม และเบียร์ เพราะจะทำให้น้ำกับลมในท้องเพิ่มมากขึ้น ปริมาตร "อาหาร+น้ำ+ลม" ในกระเพาะอาหารจะเพิ่มขึ้น (น้ำและลมเพิ่มขึ้น) ทำให้กรดไหลย้อนมากขึ้น
ไม่สูบลม การสูบบุหรี่ ซิการ์ ยาสูบ หรือมอระกู่(ยาสูบแขกที่ให้ควันผ่านน้ำ) ทำให้ลมในท้องมากขึ้น กรดไหลย้อนมากขึ้น
ไม่ดื่มน้ำมากเกิน การดื่มน้ำมากเกินจะทำให้น้ำในท้องมากขึ้น ปริมาตร "อาหาร+น้ำ+ลม" ในกระเพาะอาหารจะเพิ่มขึ้น (น้ำเพิ่มขึ้น) ทำให้กรดไหลย้อนมากขึ้น
ไม่ดื่มเหล้า เหล้า เบียร์ ไวน์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทำให้กระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และเยื่อบุกล่องเสียงอักเสบได้ง่ายขึ้น
หลีกเลี่ยงอาหารบางอย่าง อาหารบางอย่างอาจทำให้กรดในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น หรือทำให้หูรูดหลอดอาหารทำงานได้น้อยลง เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว มะเขือเทศ หัวหอม สะระแหน่ กระเทียม กาแฟ ช็อคโกแลต โกโก้ อาหารไขมันสูง ฯลฯ
ไม่เอนหลังอาหาร ถ้านอนหลังอาหารทันที กรดจะไหลย้อนขึ้นมาได้ง่ายขึ้น เปรียบคล้ายขวดใส่น้ำเต็ม ถ้าเอียงขวด น้ำจะล้นออกจากขวดได้ง่าย ถ้าตั้งขวดตรง น้ำจะล้นออกจากขวดได้ยาก
แต่ถ้าง่วงมากจริงๆ ควรเปลี่ยนมานอนบนเก้าอี้ โดยนอนยกส่วนหัวสูงกว่าส่วนท้อง
ไม่เบ่ง เพราะการเบ่งหรือออกแรงมากๆ เช่น ยกของหนัก ฯลฯ หลังอาหารทำให้แรงดันในช่องท้องมากขึ้น กรดจะไหลย้อนได้มากขึ้น
ไม่กินใกล้เวลานอน ถ้ากินใกล้เวลานอน โดยเฉพาะมื้อเย็น อาหารที่ย่อยได้ไม่หมด ยังผ่านไปยังลำไส้เล็กไม่หมด จะไหลย้อนขึ้นได้ง่าย
· วิธีที่ดีคือ กินข้าวเย็นให้เร็ว อย่างน้อยก่อนพระอาทิตย์ตกดิน หรือก่อนนอน 3 ชั่วโมงขึ้นไป
· ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น... ควรลองกินอาหารให้เร็วขึ้นคราวละ 1 ชั่วโมง เพื่อให้อาหารได้รับการย่อย และผ่านไปยังลำไส้เล็กก่อนนอน
กินผักผลไม้ ผักผลไม้มีใยอาหาร (ไฟเบอร์) ทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น ควรกินผักผลไม้เพิ่มขึ้นทีละน้อย ดื่มน้ำระหว่างมื้อ (ไม่ใช่หลังอาหารทันที) ให้มากพอ เพื่อป้องกันท้องอืด
ออกกำลังกาย การออกแรงออกกำลังมีส่วนช่วยให้ทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น และช่วยป้องกันโรคอ้วน และโรคอ้วนลงพุง
ไม่ใส่เสื้อผ้าคับ การบีบหลอดยาสีฟันทำให้ยาสีฟันไหลออกจากหลอดได้ฉันใด การใส่เสื้อผ้าคับก็บีบอาหาร น้ำ และลมออกจากกระเพาะอาหาร ทำให้กรดไหลย้อนได้ฉันนั้น
ระวังอย่าให้อ้วน สภาวะอ้วนโดยเฉพาะอ้วนลงพุงจะมีไขมันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ไขมันเหล่านี้จะกดกระเพาะอาหาร ทำให้เป็นกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น
หนุนหัวเตียง
· หนุนหัวเตียงให้สูงขึ้นประมาณ 6-8 นิ้ว หรือ 15 เซนติเมตร เพื่อลดกรดไหลย้อนในช่วงเวลานอน
· ไม่ควรหนุนหมอนสูงหรือหนุนหมอนหลายใบ เนื่องจากจะทำให้ส่วนท้องงอลง แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น กรดไหลย้อนมากขึ้น
สนับสนุนโดย: Thaiherb2017
27 ส.ค. 2561
6 ก.ค. 2561