ว่าด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มมากแค่ไหนถึงเป็น “ตับแข็ง”

Last updated: 29 มิ.ย. 2561  |  8726 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ว่าด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ดื่มมากแค่ไหนถึงเป็น “ตับแข็ง”

  ทางการแพทย์ศึกษาพบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคตับแข็งจริง แต่เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยสงสัยกันว่า แล้วต้องดื่มเท่าไรถึงจะเป็น “โรคตับแข็ง”

  จากการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำที่มีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่าวันละ 5 หน่วย เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี จะมีผลเสียต่อตับอย่างชัดเจน และมีโอกาสเสี่ยงเป็น “โรคตับแข็ง ประมาณ 15 – 20%”

  โดยเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันค่ะ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

·      เบียร์ 100 มิลลิลิตร ให้ปริมาณแอลกอฮอล์ 4 กรัม / เบียร์ 1 ขวด มีปริมาณแอลกอฮอล์ 13 กรัม

·      ไวน์ 100 มิลลิลิตร ให้ปริมาณแอลกอฮอล์ 12 กรัม / ไวน์ 1 แก้วปกติ มีปริมาณแอลกอฮอล์ 12 กรัม

·      วิสกี้ 100 มิลลิลิตร ให้ปริมาณแอลกอฮอล์ 40 กรัม / วิสกี้ 2 ฝา มีปริมาณแอลกอฮอล์ 15 กรัม

 แต่สำหรับผู้ที่ต้องการดื่มจริงๆ วันนี้เราจะมาแนะนำแนวทางการดื่มแอลกอฮอล์กันค่ะ(สำหรับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีและมีภาวะตับที่ปกติ)

-     การดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเข้าสังคมนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ควรดื่มแค่พอประมาณด้วยเช่นกัน

-     การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในผู้ชาย ดื่มได้วันละไม่เกิน 3 หน่วย และผู้หญิงไม่เกินวันละ 2 หน่วย แต่ตัวเลขนี้แพทย์ใช้กับชาวยุโรปส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวมากกว่าคนไทย ดังนั้นผู้ชายไทยจึงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่าวันละ 2 หน่วย และผู้หญิงเกินกว่าวันละ 1 หน่วย

-     ควรดื่มพร้อมกับการทานอาหารเพราะจะมีผลเสียน้อยกว่าการดื่มขณะท้องว่าง

-     การดื่มครั้งละน้อยๆ อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เกิดโทษต่อตับน้อยกว่าการดื่มครั้งละมากๆ ในปริมาณแอลกอฮอล์ที่เท่ากัน

  โดยปกติแล้วตับเป็นอวัยวะที่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าหากมีการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ จะทำให้เกิดผลเสียต่อตับในระยะยาว เกิดการสะสมของพังผืดและทำให้ตับแข็ง แต่ถ้าหากมีการเว้นระยะหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์ ตับก็จะฟื้นฟูตัวเองได้ในระดับหนึ่งค่ะ

อาการของโรคตับแข็งที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  ในระยะแรกของโรคตับแข็งอาจไม่มีอาการใดๆ เลยนอกจากผลการตรวจเลือดที่บ่งบอกความผิดปกติหรืออาจจะมีอาการต่อไปนี้

– รู้สึกไม่สบาย เบื่ออาหาร อยากอาเจียน

– คันตามผิวหนัง

– น้ำหนักตัวลดลง

เมื่อโรคดำเนินต่อเนื่องอาการที่มีอาจรวมถึง

– สีผิวหนังและสีของตาขาวออกสีเหลืองที่เรียกว่าดีซ่าน

– ช่องท้องและขาบวม

– กล้ามเนื้อลีบเล็กลง

– ปรากฏเส้นเลือดฝอยเหมือนแมงมุมบนผิวหนัง

– ผิวหนังช้ำและมีเลือดออกง่าย

– อาเจียนเป็นเลือดหรือมีเลือดในอุจจาระ

– รู้สึกสับสนหรือความจำไม่ดี

– อุณหภูมิร่างกายสูงจากการมีไข้เพราะมีการติดเชื้อ

– การเปลี่ยนแปลงที่แสดงลักษณะทางเพศ เช่น ในผู้ชายอาจสังเกตเห็นว่าเส้นขนตามร่างกายน้อยลง ลูกอัณฑะฝ่อเล็กลง (testicular atrophy) และมีเนื้อเยื่อเต้านมมากขึ้น (gynaecomastia) ถ้าเป็นผู้หญิงอาจจะมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ



ภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็งที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    เนื้อเยื่อที่เป็นพังผืดจะขัดขวางการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงตับ ทำให้หลอดเลือดดำพอร์ทอลที่เชื่อมต่อระหว่างลำไส้และตับมีความดันสูงขึ้น (Portal hypertension) ความดันที่สูงนี้จึงดันเลือดที่จะไหลไปที่หัวใจให้ไหลผ่านเส้นเลือดอื่นแทนที่จะผ่านตับ เป็นผลทำให้มีการขยายของเส้นเลือดในเยื่อบุกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร เกิดเป็นภาวะเส้นเลือดขอด (varices) ซึ่งถ้ามีเลือดออกด้วยอย่างช้าๆ ก็จะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง และยังเป็นภาวะเสี่ยงที่จะมีเลือดออกอย่างรุนแรงที่ต้องรักษาฉุกเฉิน
โรคตับแข็งนอกจากสามารถนำไปสู่ภาวะตับวาย (Liver failure) แล้ว ยังสามารถนำไปสู่กลุ่มอาการโรคไตเนื่องจากโรคตับ (Hepatorenal syndrome) และสมองทำงานผิดปกติ (Encephalopathy) ได้ อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งตับด้วย

บุคคลที่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

1.   หญิงตั้งครรภ์

2.   หญิงให้นมบุตร

3.   คนที่เป็นโรคเบาหวาน

4.   ผู้ป่วยโรคตับอักเสบชนิดซีที่เป็นแบบเรื้อรัง เนื่องจากแอลกอฮอล์มีส่วนช่วยทำให้โรคไวรัสตับอักเสบชนิดซีนั้นลุกลามอย่างรวดเร็ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

Tel: 084-6368708, 062-4567878
Line: @Thaiherb2017
Facebook page: https://www.facebook.com/thaiherb2017

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้